วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2550

เซิ้งสวิง


ตามความเข้าใจของคนทั่วไปคิดว่า รำหรือระบำ เป็นการร่ายรำหรือฟ้อนของคนภาคกลาง ฟ้อน เป็นการร่ายรำของคนภาคเหนือ เซิ้ง เป็นการร่ายรำของคนภาคอีสาน แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ การฟ้อนของภาคอีสานนั้นมีมานานและเรียกว่าฟ้อนมาโดยตลอด เช่น ในวรรณคดีอีสานหลายเรื่องจะใช้คำว่า ฟ้อน ตลอด ไม่ปรากฏคำว่า รำ ให้เห็นเลย อย่างคำว่า ยามยามฟ้อน ระทวยฟ้อน ลิงโขนฟ้อน กินรีหย่องฟ้อน ทั้งลำและฟ้อน ฟ้อนหย่อนขา คนฟ้อนใส่กัน หมอแคนฟ้อนแอ่น ฯลฯ ส่วนคำว่า เซิ้ง นิยมใช้ในงานบุญบั้งไฟ การเซิ้งบั้งไฟเป็นการฟ้อนประกอบการขับกาพย์เซิ้ง ลักษณะขึ้นลงตามจังหวะช้าๆ ของกลองตุ้ม พังฮาด หรือในบางครั้งก็มีโทนประกอบ นิยมเซิ้งกันเป็นกลุ่มๆ ตั้งแต่ 3-4 คนขึ้นไป จะมีหัวหน้าเป็นคนขับกาพย์เซิ้งนำ แล้วคนอื่นๆ จะร้องรับไปเรื่อยๆ เซิ้งสวิง เป็นการละเล่นพื้นเมืองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในท้องถิ่นอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นการละเล่นเพื่อส่งเสริมด้านจิตใจของประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งมีอาชีพในการจับสัตว์น้ำ โดยมีสวิงเป็นเครื่องมือหลัก ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ท่านผู้เชี่ยวชาญนาฎศิลป์ไทย กรมศิลปากร จึงได้นำท่าเซิ้งศิลปะท้องถิ่นมาปรับปรุงให้เป็นท่าที่กระฉับกระเฉงขึ้น โดยสอดคล้องกับท่วงทำนองดนตรี ที่มีลักษณะสนุกสนานร่าเริง เครื่องดนตรี ที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงชุดเซิ้งสวิง ได้แก่ กลองยาว กลองแต๊ะ แคน ฆ้องโหม่ง กั๊บแก๊บ ฉิ่ง ฉาบ กรับ การแต่งกาย ชาย สวมเสื้อม่อฮ่อม นุ่งกางเกงขาก๊วย มีผ้าขาวม้าโพกศีรษะและคาดเอว มือถือตะข้อง หญิง นุ่งผ้าซิ่นพื้นบ้านอีสาน ผ้ามัดหมี่มีเชิงยาวคลุมเข่า สวมเสื้อตามลักษณะผู้หญิงชาวภูไท คือสวมเสื้อแขนกระบอกคอปิด ผ่าอก ประดับเหรียญโลหะสีเงิน ปัจจุบันใช้กระดุมพลาสติกสีขาวแทน ขลิบชายเสื้อ คอ ปลายแขน และขลิบผ่าอกตลอดแนวด้วยผ้าสีตัดกัน เช่น สีเขียวขลิบแดง หรือสวมเสื้อกระบอกคอปิด ผ่าอก ห่มสไบเฉียงทับตัวเสื้อ สวมสร้อยคอโลหะทำด้วยเงิน ใส่กำไลข้อมือและกำไลข้อเท้า ผมเกล้ามวยสูงไว้กลางศีรษะ ทัดดอกไม้ มือถือสวิง