วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2550

รำกลองยาว


รำกลองยาว
ประวัติความเป็นมา คณะกลองยาวที่มีชื่อเสียงมากของชาวอำเภอพยุหะคีรี ได้แก่ คณะ บ.รุ่งเรืองศิลป์ ของนายบุญ เอี่ยมเวช ซึ่งได้ดัดแปลงท่าร่ายรำมาจากท่าร่ายรำของลิเก พร้อมได้ดัดแปลงประดิษฐ์ชุดแต่งกายขึ้น โดยเลียนแบบจากเครื่องแต่งกายของลิเกเช่นกัน และใช้ชื่อว่า กลองยาวประยุกต์และได้นำออกแสดงเป็นครั้งแรกราวปี พ.ศ. 2500
ผู้เล่น ในตอนแรกผู้ร่ายรำใช้ทั้งชายและหญิง ต่อมาเปลี่ยนเป็นใช้ผู้หญิงเป็นผู้ร่ายรำเท่านั้น ส่วนผู้ชายทำหน้าที่ตีกลองยาว และเครื่องดนตรีประกอบ ในตอนแรกมีผู้เล่นทั้งหมด 16 คน โดยมีผู้ตีกลองยืน 3 คน และผู้ตีเครื่องดนตรีประกอบได้แก่ ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ฆ้อง อีก 5 คน สำหรับผู้รำมี 4 คู่ 8 คน มีผู้รำคนหนึ่งเป็นหัวหน้า คล้องนกหวีดไว้ที่คอสำหรับเป่าเป็นสัญญาณในการเปลี่ยนท่ารำ ในตอนหลังมีการเพิ่มเครื่องดนตรี เช่น กลองอเมริกันและปี่ชวาขึ้น และเพิ่มความครึกครื้น ก็เพิ่มผู้ร่ายรำเข้าไปอีก
การแต่งกาย แต่เดิมไม่มีแบบแผน แต่ต่อมาได้คิดประดิษฐ์ชุดเครื่องแต่งกายขึ้นใหม่โดยแปลงจากชุดของลิเก คือ นุ่งกางเกงคลุมเข่า และนุ่งผ้าโจงกระเบนทับกางเกง สวมเสื้อคอกลมแขนสั้น มีผ้าคาดศีรษะ ทัดดอกไม้ไว้ข้างหู สวมถุงเท้าสีขาวยาวถึงครึ่งน่อง มีผ้าคาดเอว
อุปกรณ์ในการเล่น กลองยาวที่ใช้ตีเป็นกลองยืน 3 ใบ กลองใหญ่ (กลองอเมริกัน) ฉาบเล็ก 1 คู่ ฉาบใหญ่ 1 คู่ ฉิ่ง 1 คู่ ปี่ชวา 1 เลา ฆ้อง 1 ใบ กรับ 1 คู่และกลองยาวที่ผู้รำใช้ประกอบการร่ายรำอีกคนละ 1 ใบ
สถานที่เล่น ลานกว้างๆ
วิธีเล่น ก่อนเล่นมีการทำพิธีไหว้ครู มีดอกไม้ธูปเทียน เหล้าขาว บุหรี่และเงินค่ายกครู 12 บาท การไหว้ครูใช้การขับเสภา เมื่อไหว้ครูแล้วจะโห่ขึ้น 3 ลา แล้วเริ่มแสดง โดยนักดนตรีประกอบเริ่มบรรเลง ผู้ร่ายรำก็จะเดินและร่ายรำไปตามจังหวะกลอง มีท่าร่ายรำทั้งหมด 33 ท่า ท่าที่หวาดเสียวและตื่นเต้นมากที่สุดก็เห็นจะเป็นท่าที่ 30-31 คือท่าที่มีการต่อกลองขึ้นไป 3 ใบ ให้ผู้แสดงคนหนึ่งขึ้นไปยืนบนกลองใบที่ 3 แล้วควงกลอง และคาบกลอง ซึ่งผู้แสดงต้องใช้ความสามารถพิเศษ
บทร้องประกอบการเล่น ในการเล่นอาจมีบทร้องประกอบหรือร้องกระทุ้งในเวลาที่ผู้ร่ายรำออกรำเพื่อเพิ่มความสนุกสนานครึกครื้นทั้งผู้ชมและผู้แสดงคำร้องที่ใช้ร้องเล่นเท่าที่ใช้อยู่มีดังนี้
1.
แฮ้-แฮะ แฮ้-แฮะๆๆ แช้-แช้วับๆๆ (แช้วับ เป็นคำร้องเลียนเสียงตีฉาบ มักใช้ร้องสอดตามจังหวะ)
2.
มาแล้วโหวย มาแล้ววา มาแต่ของเขา ของเราไม่มา ตะละล้า(หรือ)มาแล้วโหวย มาแล้ววา มาแต่ป่า รอยตีนโต (ก็มี)
3.
ต้อนไว้ ต้อนไว้ เอาไปบ้านเรา บ้านเราคนจน ไม่มีคนหุงข้าว-ตะละล้า
4.
ใครมีมะกรูด มาแลกมะนาว ใครมีลูกสาว มาแลกลูกเขย เอาวะเอาเหวยลูกเขยกลองยาว (บางทีก็ต่อสร้อยด้วยว่า แฮ้ แฮะ บ้าง ตะละล้าบ้าง แช้-วับ บ้าง)
5.
ยักคิ้วยักค่อยเสียหน่อยเถอะ ลอยหน้าลอยตาเสียหน่อยเถอะ (ซ้ำ)
6.
เจ๊กตายลอยน้ำมาๆ ไม่ได้นุ่งผ้าชฎาแหลมเชี้ยบๆๆๆ
7.
แม่สาวนครสวรรค์ๆ ช่างกล้าหาญเสียนี่กระไร เอ้าต่อเข้าไปๆ ไม่ต้องกลัวตายอีหนูๆ ไม่ต้องกลัวร่วงอีหนูๆ ไม่ต้องกลัวตกอีหนูๆ
8.
บอกแม่จะไปเก็บถั่วๆ พอลับตาแม่วิ่งแร่หาผัว ตะละล้าบอกแม่จะไปเก็บผักๆ พอถึงท้องร่องกระดองเต่าหัก
9.
ลูกสาวใครเหวย ลูกสาวใครวา เทวดาก็สู้ไม่ได้ สวยอย่างนี้อย่ามีผัวเลย เอาไว้ชมเชยอีหนูๆ
10.
แดงแจ๊ดๆ แดงแจ๋ แดงแจ๊ดแจ๋แดงแจ๋แดงแจ๊ด
11.
ดำปิ๊ดดำปิ๊ดดำปี๋ ดำปิ๊ดปี๋ ดำปี๋ดำปิ๊ด
โอกาสที่เล่น ในงานเทศกาลต่างๆ เช่น ตรุษสงกรานต์ ลอยกระทง ปีใหม่ ตักบาตรเทโว สรงน้ำพระ หรืองานบวช เป็นต้น
ประโยชน์ที่ได้รับ
1.
เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน
2.
เพื่อสืบทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้านไว้เป็นมรดกของชาวนครสวรรค์