ฟ้อนไต เป็นศิลปะการฟ้อนของชาวพื้นเมืองเหนือที่ได้รับอิทธิพลมาจากชนชาติไทยใหญ่ ฟ้อนกันทั่วไปแถบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดเชียงใหม่ที่มีชาวพื้นเมืองที่สืบเชื้อสายมาจากชนชาติไทยใหญ่มาแต่เดิม ซึ่งมีการฟ้อนโดยทั่วไปทั้งชายและหญิง
ผู้แสดง
ใช้ผู้หญิงแสดง ฟ้อนเป็นชุด ชุดหนึ่งประมาณ 12 คน หรือมากกว่านั้น
การแต่งกาย
นุ่งผ้าซิ่นไหมสีต่าง ๆ หรือนุ่งผ้าซิ่นที่มีดอกสดใส ยาวกรอมเท้า ใช้พับข้างหน้าแล้วขมวดเหน็บเอวข้างซ้ายหรือขวาตามถนัด เสื้อแขนยาวทรงกระบอก ตัวสั้นแค่เอวหรือสูงกว่าเอวเล็กน้อย ด้านหน้าป้ายข้างเป็นลักษณะเสื้อไต (หรือเสื้อพม่า) ติดกระดุม 3 เม็ด เกล้ามวยผมทรงสูงแล้วปล่อยชายผมลงมาไว้ข้าง ๆ มีผ้าคล้องคอยาว ๆ ปล่อยชายไว้ทั้ง 2 ข้าง
วิธีแสดงและการฟ้อน
วิธีแสดงฟ้อนไตนั้น ผู้ฟ้อนจะยืนเรียงแถวแล้วฟ้อนเช่นเดียวกับฟ้อนเมืองของพื้นเมืองเหนือ ท่าที่ใช้ฟ้อนเป็นลักษณะของไทยใหญ่ ต่อมานายแก้ว และนางละหยิ่น ทองเขียว ได้ใช้ท่าแม่บทของภาคกลางมาประกอบ และเรียงลำดับท่าการฟ้อนให้ต่อเนื่องกันเพื่อความสวยงาม
ดนตรีประกอบ
ดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อน ถ้าเป็นการฟ้อนไตโดยทั่วไปจะใช้วงกลองมองเซิง
สำหรับการฟ้อนไตที่แม่ฮ่องสอนใช้วงดนตรีของไทยใหญ่ และเพลงไทยใหญ่ ประกอบการฟ้อน ไม่มีการขับร้อง เครื่องดนตรีมี
1. กลอง (กลองเมา)
2. ฆ้องแผง (มองวาย)
3. ระนาดเหล็ก (ป้าดเหล็ก)
4. แน (แนยี แนแวง แนแหง่)
5. ฉิ่ง ฉาบ กรับ
6. เป่าใบไม้
7. ฯลฯ
โอกาสที่แสดง
ใช้แสดงในงานมลคลโดยทั่วไป ฟ้อนไตในปัจุบันใช้ผู้ฟ้อนเป็นหญิงล้วน นุ่งผ้าซิ่นไหมสีต่าง ๆ ที่มีดอกสดใส เสื้อแขนยาวทรงกระบอก ตัวสั้น ด้านหน้าป้ายข้างเป็นลักษณะเสื้อไต (ไทยใหญ่) ซึ่งมีลักษณะเหมือนเสื้อพม่า ดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อนนั้น โดยทั่วไปจะใช้วงมองเซิง แต่เฉพาะในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จะใช้วงดนตรีของไทยใหญ่และใช้เพลงไทยใหญ่