คำว่า “วี” เป็นคำพื้นเมืองของภาคเหนือ แปลว่า “พัด” ซึ่งรำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น พัดให้คลายร้อน พัดไล่ยุงหรือแมลง วีของภาคเหนือมีหลายลักษณะ วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ได้นำวีมาสร้างสรรค์เป็นชุดการแสดง ครั้งแรกแสดงในงานศิลปวัฒนธรรมและนิทรรศการของสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อ เทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๓ รอบ ณ วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๔ นายคำ กาไวย์ ครูสอนนาฏศิลป์พื้นเมืองของวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ และศิลปินแห่งชาติ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการประดิษฐ์ท่ารำ โดยนำวิธีการและประโยชน์ของการใช้ “วี” ในลักษณะต่าง ๆ ตามท่าทางธรรมชาติมาประดิษฐ์เป็นท่ารำที่อ่อนช้อย แสดงให้เห็นถึงอารมณ์รื่นเริงสนุกสนานของหญิงสาวล้านนา ท่ารำทั้งหมดมี ๑๕ ท่า เช่น ท่าป้าวก๋อยใบ ท่าบัวบาน ท่ารอลม ท่าวีผมตากแดด ท่ายืนกาดกล้าไปมา เป็นต้น ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ใช้วงประสมของเครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคเหนือ ประกอบด้วย สะล้อใหญ่ สะล้อกลาง สะล้อเล็ก ซึงใหญ่ ซึงกลาง ซึงเล็ก ปี่จุม กลองพื้นเมือง การแต่งกายของผู้แสดง นุ่งซิ่นตีนจก สวมเสื้อคอกลมเข้ารูปแขนสามส่วน สไบคล้องคอ เครื่องประดับเข็มขัด สร้อยคอ กำไลข้อมือ ต่างหู เกล้าผมมวยสูงดึงช่อผมสูงจากมวยปักปิ่น ดัดแปลงปรับปรุงจากข้อมูลการแต่งกายของหญิงสาวล้านนา จากจิตรกรรมฝาผนักที่วัดพระสิงห์วรวิหารจังหวัดเชียงใหม่ และวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน การแสดงชุดนี้ใช้เวลาแสดงประมาณ ๑๒ นาที