เซิ้งกระติบ
เซิ้งกระติบข้าว เป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวภูไท ซึ่งเป็นชาวไทยเผ่าหนึ่งที่มีเชื้อสายสืบต่อกันมาช้านาน ในดินแดนทางภาคอีสานของไทย เช่น ในเขตจังหวัดสกลนคร และจังหวัดข้างเคียง นิยมเล่นกันในโอกาสรื่นเริงวันนักขัตฤกษ์ต่างๆ การแสดงจะเริ่มด้วยชาวภูไทฝ่ายชายนำเอาเครื่องดนตรี และเครื่องประกอบจังหวะหลายอย่าง ได้แก่ แคน เป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งใช้ปากเป่าเป็นทำนองเพลง แก๊บ (กรับ) กลองเถิดเทิง กลองแต๊ะ โหม่ง และฉาบ มาร่วมกันบรรเลงเพลงที่มีทำนองและจังหวะรุกเร้า ต่อจากนั้นเหล่าสตรีชาวภูไทในวัยต่างๆ ซึ่งมีกระติบข้าว แขวนสะพายอยู่ข้างตัว ออกมาเต้นเซิ้งเป็นการแสดงอากัปกิริยาของสตรีชาวภูไท ขณะเมื่อสะพายกระติบข้าวเพื่อนำอาหารไปส่งให้แก่สามี และญาติพี่น้องที่ออกไปทำงานอยู่นอกบ้าน
เครื่องดนตรี ที่ใช้ประกอบจังหวะ ได้แก่ กลองแต๊ะ กลองยาว แคน ฆ้องโหม่ง ฉิ่ง ฉาบ และกรับ
จังหวะ ป๊ะ เพิ่ง ป๊ะ เพิ่ง ป๊ะ เพิ่ง เพิ่ง
การแต่งกาย แต่งกายแบบพื้นเมืองภาคอีสาน นุ่งผ้าซิ่น มีเชิงยาวคลุมเข่าเล็กน้อย สวมเสื้อแขนกระบอก คอกลมหรือคอปิด ห่มสไบทับเสื้อ ประดับด้วยเครื่องประดับต่างๆ เกล้าผมมวยสูงทัดดอกไม้
อุปกรณ์การแสดง กระติบข้าว หรือกล่องใส่อาหารสานด้วยไม้ไผ่