วันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ระบำดาวดึงส์


ระบำดาวดึงส์

ระบำดาวดึงส์ เป็นระบำในละครดึกดำบรรพ์ เรื่อง สังข์ทอง ตอนที่ ๒ ตีคลี สันนิษฐานว่าน่าจะประดิษฐ์ขึ้นในช่วงระหว่างปี พ.ศ.๒๔๔๒-๒๔๕๒ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ละครดึกดำบรรพ์ของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศวิวัฒน์ได้รับความนิยมมาก บทร้องนั้นเป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ท่ารำนั้นประดิษฐ์โดยหม่อมเข็มในเจ้าพระยาเทเวศน์ พระประดิษฐ์ไพเราะ (ตาด ตาตะนันท์) ควบคุมปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ (ซึ่งมีลักษณะการประสมวงเป็นรูปแบบเฉพาะ) หลวงเสนาะดุริยางค์ เป็นผู้ฝึกหัดวิธีขับร้อง บทร้องพรรณนาถึงสมบัติอมรินทร์ เพลงที่ใช้ประกอบคือลำตะเขิ่งและลำแขกเจ้าเซ็น ในชั้นหลังได้นำระบำนี้มาเล่นเป็นเอกเทศ และแทรกเพลงเหาะไว้เพื่อตัวละครรำออก การแสดงชุดนี้จะใช้ผู้แสดงตั้งแต่ ๒ คู่ขึ้นไป

ดาวดึงส์เทวโลกมโหฬาร เป็นที่อยู่สำราญฤทัยหรรษ์

สารพัดงามจริงทุกสิ่งอัน สารพันอุดมสมใจปอง

เทพบุตรผุดพรรณโฉมยง งามทรงอาภรณ์ไม่มีหมอง

นางอัปสรงอนสงวนนวลละออง งามทรงเครื่องทองและเพชรนิล

สมเด็จพระอัมรินทร์ปิ่นมงกุฎ ทรงวชิราวุธธนูศิลป์

รักษาเทวสีมาเป็นอาจิณ อสุรินทร์อรีไม่บีฑา (ซ้ำ)

อันอินทรปราสาททั้งสาม (ซ้ำ) ทรงงามสูงเงื้อมกลางเวหา

สี่มุขหุ้มมาศสะอาดตา ใบระกาแกมแก้วประกอบกัน

ช่อฟ้าช้อยเฟื้อยเฉื่อยชด (ซ้ำ) บราลีที่ลดมุขกระสัน (ซ้ำ)

มุขเด็ดทองคาดกนกพัน บุษบกสุวรรณชามพูนุท (ซ้ำ)

ราชยานเวชยันตร์รถแก้ว (ซ้ำ) เพริศแพร้วกำกงอลงกต (ซ้ำ)

แอกงอนอ่อนสลวยชวยชด (ซ้ำ) เครือขดช่อตั้งบัลลังก์ลอย

รายรูปสิงห์อัดหยัดยัน สุบรรณจับนาคหิ้วเศียรห้อย (ซ้ำ)

ดุมพราววาววับประดับพลอย แปรกแก้วกาบช้อยสะบัดบัง

เทียมด้วยสิงธพเทพบุตร ทั้งสี่บริสุทธิ์ดั่งสีสังข์

มาตลีอาจขี่ขับประดัง ให้รีบรุดสุดกำลังดังลมพา