รำวงมาตรฐาน วิวัฒนาการมาจากการรำโทน เป็นการละเล่นพื้นเมืองของไทย ต่อมาท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้แต่งเนื้อร้องและมอบให้กรมศิลปากรบรรจุท่ารำไว้เป็นมาตรฐาน เป็นเพลงที่มีเนื้อร้องสุภาพ ใช้คำง่าย ทำนองเพลงง่าย มุ่งให้เห็นวัฒนธรรมของชาติเป็นส่วนใหญ่ การแสดงจะใช้ผู้แสดงหญิงชายไม่น้อยกว่า ๕ คู่ ท่ารำ คุณครูศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก คุณครูมัลลี คงประภัศร์ และคุณครูลมุล ยมะคุปต์ ได้ร่วมกันประดิษฐ์ท่ารำขึ้น ทั้งหมด ๑๔ แม่ท่า เป็นชื่อท่ารำที่อยู่ในรำแม่บท มีทั้งหมด ๑๐ เพลง ได้แก่ เพลงงามแสงเดือน เพลงชาวไทย เพลง รำซิมารำ เพลงคืนเดือนหงาย เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ เพลงดอกไม้ของชาติ เพลงหญิงไทยใจงาม เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า เพลงยอดชายใจหาญ และเพลงบูชานักรบ คำร้อง จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันท์) หัวหน้ากองการสังคีต กรมศิลปากร ได้ประพันธ์ขึ้น ๔ เพลง คือ เพลงงามแสงเดือน เพลงชาวไทย เพลง รำซิมารำ เพลงคืนเดือนหงาย คุณหญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้ประพันธ์คำร้องไว้ ๖ เพลง คือ เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ เพลงดอกไม้ของชาติ เพลงหญิงไทยใจงาม เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า เพลงยอดชายใจหาญ และเพลงบูชานักรบ ทำนอง อาจารย์มนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทย กรมศิลปากร ได้แต่งทำนองไว้ ๖ เพลง คือ เพลงงามแสงเดือน เพลงชาวไทย เพลง รำซิมารำ เพลงคืนเดือนหงาย เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ เพลงดอกไม้ของชาติ ครูเอื้อ สุนทรสนาน หัวหน้าวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ แต่งทำนองไว้ ๔ เพลง คือ เพลงหญิงไทยใจงาม เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า เพลงยอดชายใจหาญ และเพลงบูชานักรบ เครื่องดนตรี เดิมนั้น รำโทนมีเครื่องดนตรีประกอบ คือ ฉิ่ง กรับ ฉาบ และโทน เมื่อมีการพัฒนาการรำขึ้น จึงได้พัฒนาเครื่องดนตรีที่ใช้ด้วย โดยใช้วงดนตรีสากลบรรเลง การแต่งกาย มิได้กำหนดเฉพาะเจาะจงว่าต้องแต่งชุดไทยอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน แต่สามารถแต่งได้หลายอย่าง เช่น แต่งชุดไทยจักรี ชุดไทยสมัย ร.๖ ชุดไทยแบบชาวบ้านคือห่มสไบ นุ่งโจงกระเบนหรือชุดไทยสมัยใดก็ได้ขอให้เป็นแบบไทยขอให้ดูสุภาพงดงาม ชายก็แต่งได้ทั้งชุดไทยแบบชาวบ้าน คือนุ่งโจงกระเบนใส่เสื้อคอพวงมาลัยแขนสั้นผ้าคาดเอว หรือชุดไทยเสื้อพระราชทานกางเกงขายาวชุดราชปะแตนหรือชุดสากลใส่สูทผูกเนคไทก็ได้ |