ฟ้อนเล็บ
ฟ้อนเล็บ เป็นการฟ้อนของชาวไทยภาคเหนือ การแสดงจะมีดนตรีบรรเลงประกอบ จะมีเนื้อร้องหรือไม่มีเนื้อร้องก็ได้ โอกาสที่แสดง ในงานเทศกาลหรืองานนักขัตฤกษ์ต่าง ๆ
ผู้แสดง ฟ้อนแต่ละชุดจะใช้จำนวนคนแตกต่างกันไป นิยมกันมี ๔ คู่ ๖ คู่ หรือ ๘ คู่
การแต่งกาย จะแต่งกายแบบไทยชาวภาคเหนือสมัยโบราณ คือ เกล้าผมทัดดอกไม้และอุบะ นุ่งผ้าตามแบบชาวเหนือ สวมเสื้อทรงกระบอกแขนยาว คอกลม ห่มสไบเฉียง นุ่งผ้าซิ่นลายขวาง และสวมเล็บมือยาวทั้ง ๘ นิ้ว เว้นแต่นิ้วหัวแม่มือ
การแสดง ผู้แสดงจะร่ายรำตามทำนองเพลงที่เชื่องช้า ส่วนการใช้ท่าฟ้อนเล็บนั้น ช่างฟ้อนมักจะจำต่อๆ กันมา เป็นท่าฟ้อนดั้งเดิมของชาวเหนือ คือ
๑. ท่าพายเรือ
๒. ท่าบิดบัวบาน
๓. ท่าหย่อน
ต่อมาเมื่อนาฎศิลป์ทางภาคกลางแพร่มาสู่ภาคเหนือ การฟ้อนเล็บก็มีการปรับวิธีการฟ้อนให้เข้ากับท่ารำแม่บท เพิ่มท่ารำให้มากขึ้นและแตกต่างกันไป
ดนตรี เครื่องดนตรีที่ใช้ในการฟ้อนเป็นขบวนกลองยาว ซึ่งเป็นดนตรีของชาวภาคเหนือ ได้แก่ กลองแอร์ กลองตะโล้ดโป๊ด ฉาบ ฆ้องโหม่งใหญ่ ฆ้องโหม่งเล็ก ฉิ่ง ปี่ เวลาดนตรีบรรเลง เสียงปี่ดังไพเราะเยือกเย็นมาก ท่วงทำนองเชื่องช้า เสียงกลองจะตีดัง ตะ ตึ่ง นง ตึ่ง ต๊ก ถ่ง อย่างนี้เรื่อยไป ส่วนช่างฟ้อนก็จะฟ้อนช้าๆ ไปตามลีลาของเพลง